ความรู้เรื่องสหภาพ
เพื่อนสมาชิกสหภาพแรงงานและพนักงานที่รักทุกท่าน
เนื่องจากมีสมาชิกและพนักงานมีข้อสงสัยและสอบถามมายังสหภาพจำนวนมากว่า เมื่อสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างไร สหภาพจึงเรียนให้ทุกท่านได้ทราบโดยสังเขปถึง “ความคุ้มครองตามกฎหมายและว่าด้วยสิทธิที่จะได้รับเมื่อสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน” ซึ่งความคุ้มครองและสิทธิดังกล่าว เป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และสหภาพจะจัดสัมมนาโดยเชิญอาจารย์ด้านกฎหมายแรงงานมาเป็นวิทยากร เพื่อให้สมาชิกได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
1. สหภาพแรงงานคืออะไร สหภาพแรงงาน คือ องค์กรระดับต้นของพนักงาน โดยพนักงานรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยมีวัตถุประสงค์
– เพื่อแสวงหาและคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง
– เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน
2. ก่อตั้งสหภาพขึ้นเพื่ออะไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลและแก้ไขปัญหาต่างๆของพนักงาน เช่น ปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น และ
มั่นคง ยกระดับรายได้ ค่าจ้าง สวัสดิการให้เป็นไปตามกฎหมายและมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนเพื่อให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น
3. ทำไมต้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานประสงค์ให้พนักงานเป็นสมาชิก เพราะสาเหตุที่พนักงานทุกคนต้องการความมั่นคงในการทำงาน ซึ่งหมายถึง
– ต้องการมีรายได้ค่าตอบแทนที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และผลงาน โดยมีโครงสร้างที่แน่นอน
– ต้องการสภาพการทำงานที่ดีมีสวัสดิการที่สนองตอบความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
– ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน
– ต้องการความก้าวหน้าตามความรู้ความสามารถ และมีความมั่นคงในการทำงาน
– ต้องการมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งในสังคม พนักงานแต่ละคน หรือหน่วยงานแต่ละหน่วยงานไม่อาจทำหน้าที่แทนพนักงานได้ทั้งหมด แต่เมื่อพนักงานรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพขึ้นก็สามารถแก้ไขกติกาในการทำงานให้ทันสมัยและเป็นธรรมต่อพนักงาน
4. สมัครเป็นสมาชิกแล้วได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เมื่อสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแล้วจะได้รับสิทธิและประโยชน์ ดังนี้
– สิทธิในการคุ้มครองให้มีสภาพการจ้างที่เท่าเทียมกับเพื่อนร่วมงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ตลอดจนสวัสดิการและความปลอดภัยในการทำงานที่ธนาคารต้องจัดให้พนักงาน สหภาพแรงงานจะเป็นตัวแทนรักษาสิทธิเหล่านี้ให้
– สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เมื่อมีกรณีพิพาทแรงงาน หรือการกระทำอันไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง
– สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาตนเองตามหลักสูตรที่สหภาพจัดขึ้น หรือร่วมกับองค์กรอื่นจัดขึ้น รวมทั้งเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆของสหภาพ
– สิทธิในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพ สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการสหภาพ และสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของสหภาพตามข้อบังคับ
5. เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วกฎหมายคุ้มครองอย่างไร
– ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้าง หรือ สหภาพได้นัดชุมนุม ยื่นข้อเรียกร้อง ฯลฯ
– ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างนั้นเป็นสมาชิก
สหภาพแรงงาน
– ห้ามมิให้นายจ้างขัดขวางในการที่ลูกจ้างนั้นเป็นสมาชิกหรือให้ลูกจ้างออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
– ห้ามมิให้นายจ้างขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงาน หรือขัดขวางการใช้สิทธิของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
– ห้ามมิให้นายจ้างเข้าแทรกแซงในการดำเนินการของสหภาพแรงงานโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
6. ถ้าไม่เป็นสมาชิกสหภาพจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 ให้ความคุ้มครองสมาชิกอย่างเต็มที่ และให้อำนาจสหภาพแรงงานฟ้องร้องดำเนินคดีแทนสมาชิก กรณีที่สมาชิกถูกกระทำอันไม่เป็นธรรมจากฝ่ายนายจ้าง โดยที่บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ …. สำหรับบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพ ก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน แต่หากเกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมจากฝ่ายนายจ้าง หรือฟ้องร้องดำเนินคดี บุคคลนั้นต้องดำเนินการเอง และเสียค่าใช้จ่ายเอง สหภาพแรงงานไม่มีอำนาจตามกฎหมายและไม่มีสิทธิใดๆที่จะเข้าไปดำเนินการแทนได้
7. เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือไม่ “ ไม่มี ” เพราะสหภาพแรงงานถือเป็นความลับตามกฎหมาย และการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากลในสังคมปัจจุบัน
8. สหภาพแรงงานช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริงหรือไม่ สหภาพแรงงานจะให้ความคุ้มครองแก่สมาชิกอย่างเต็มที่ทุกกรณีที่เกิดจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะกระทำความผิดตามมาตรา ๓๑ (๑) ถึง (๔) แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
9. ฝ่ายนายจ้างมีสิทธิขอตรวจสอบรายชื่อบุคลที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือไม่พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 13 วรรคสาม
บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของลูกจ้างทั้งหมด …. แต่ในกรณีที่สหภาพแรงงานเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นไม่จำต้องมีรายชื่อ และลายมือชื่อลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง
ฝ่ายนายจ้างขอตรวจสอบรายชื่อได้หรือไม่ หากสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ถ้าฝ่ายนายจ้างสงสัยว่า สหภาพแรงงานมีจำนวนสมาชิกครบตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ นายจ้างอาจยื่นคำร้องโดยทำเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรอง เมื่อพนักงานประนอมฯได้รับคำร้องดังกล่าวแล้ว ให้ดำเนินการตรวจหลักฐานทั้งปวงว่าสหภาพแรงงานนั้นมีสมาชิกครบหรือไม่ ถ้ามี ให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานออกหนังสือรับรอง มอบให้ผู้ยื่นคำร้องเป็นหลักฐาน ถ้าไม่มี ให้พนักงานประนอมฯ แจ้งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบ และถือว่าข้อเรียกร้องนั้นเป็นอันตกไป
กรณีที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานออกหนังสือรับรอง มอบให้ผู้ยื่นคำร้องเป็นหลักฐาน พนักงานประนอมฯ จะแจ้งยอดสมาชิกเป็น
ตัวเลขเท่านั้น ไม่ใช่แจ้งเป็นรายชื่อของบุคคล เพราะพนักงานประนอมฯต้องเก็บไว้เป็นความลับตามกฎหมาย แต่หากแจ้งชื่อบุคคลที่เป็นสมาชิกสหภาพให้ฝ่านายจ้างทราบ พนักงานประนอมฯ มีความผิดตามกฎหมาย
10. ใครเป็นเจ้าของสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานเกิดขึ้นจากการรวมตัวของพนักงานจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคนเป็นผู้เริ่มก่อการ และบริหารโดยพนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพ ดังนั้นสมาชิกทุกคนคือเจ้าของสหภาพ มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและข้อบังคับ ถ้าไม่มีสมาชิกหรือสมาชิกมีไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด สหภาพก็ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมหรือเรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาชิกได้
11. ทำไมสหภาพต้องเก็บค่าสมัครและค่าบำรุงรายปี สมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงเพื่อให้สหภาพแรงงานของท่านได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆได้โดยราบรื่น เช่น ค่าจัดทำเอกสาร ข่าวสารสหภาพ ค่าเครื่องเขียน ค่าแบบพิมพ์ ค่าจัดประชุมใหญ่ ค่าพาหนะ ค่าฝึกอบรมสัมมนา ค่าสวัสดิการสมาชิก หรืออื่นๆ และเป็นเงินกองทุนไว้สำหรับช่วยเหลือสมาชิกด้านกฎหมายในกรณีที่มีเหตุต่าง ๆ กล่าวโดยย่อคือ ท่านจ่ายค่าบำรุงเพื่อให้สหภาพแรงงานสามารถบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกนั่นเอง
12. คณะกรรมการสหภาพได้รับผลประโยชน์จากเงินค่าสมัครค่าบำรุงหรือไม่ คณะกรรมการทุกท่านไม่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากเงินค่าสมัครและค่าบำรุงที่ท่านจ่ายเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง เบี้ยประชุม ค่าอาหาร หรืออื่น ๆ และไม่มีสิทธินำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตนไม่ว่ากรณีใด ๆ แต่จะเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์แก่สมาชิกดังที่ได้กล่าวไว้แล้วใน ข้อ 10.
13. ถ้าสมาชิกสหภาพมีปัญหาสามารถติดต่อหรือร้องเรียนได้ที่ใด สามารถติดต่อได้ที่กรรมการสหภาพทุกท่านหรือที่สำนักงาน หรือหากต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นคณะกรรมการยินดีให้คำปรึกษา และเชิญผู้รู้มาให้คำปรึกษาเพิ่มเติมได้อีกด้วย
14. คุณสมบัติของผู้สมัคร หลักฐานการสมัคร และค่าสมัคร ค่าบำรุงรายปี
การชำระค่าสมัครและค่าบำรุงสมาชิก ค่าสมัคร 20 บาท ค่าบำรุง 200 บาท/ปี
ส่งหลักฐานการสมัคร (ใบสมัคร, สำเนาบัตรพนักงาน+รับรองสำเนาถูกต้อง, สำเนาสลิปการโอนเงิน) ไปที่ สหภาพแรงงาน ตู้ปณ. 67 ปณฝ. เสนานิคม กรุงเทพฯ 10902 เอกสารของท่านถือเป็นความลับตามกฎหมาย |
15. สมาชิกภาพของสมาชิกสหภาพสิ้นสุดเมื่อ ตาย ลาออก ที่ประชุมใหญ่ให้ออก ฝ่าฝืนข้อบังคับ
เพื่อนสมาชิกและพนักงานที่รัก “ สหภาพจะเข้มแข็งและก้าวหน้า ทุกคนต้องศึกษาและเสียสละ ” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านด้วยการสมัครเป็นสมาชิกสหภาพ เพื่อให้สหภาพได้ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของทุกท่านได้อย่างเต็มที่