ผู้แจ้ง
– คนตายในบ้าน เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านหรือผู้พบเห็น หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านเป็นผู้แจ้ง
– คนตายนอกบ้านเป็นหน้าที่ของบุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพเป็นผู้แจ้ง
– คนตายในต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือ ผู้รู้เห็น การตายเป็นผู้แจ้ง

กำหนดเวลาการแจ้งตาย
– ต้องแจ้งการตายภายใน ๒๔ ชม. นับแต่เวลาตายหรือเวลาที่พบศพ
สถานที่แจ้งตาย
– คนตายเขตเทศบอลให้แจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานเทศบาลนั้นเอง
– คนตายนอกเขตเทศบอลให้แจ้งที่สำนักทะเบียนตำบล(ที่ว่าการอำเภอ)หรือที่สำนักทะเบียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เช่น เขตกรมทหารเป็นต้น
– คนตายในเขตกรุงเทพมหานครให้แจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเขต
– คนตายในต่างประเทศให้แจ้งการตายที่สถานกงสุลหรือสถานทูตไทย ณ.ประเทศนั้นด้วยตนเอง
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
กรณีคนตายในบ้าน
– บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหรือผู้แจ้งและผู้ตาย (ถ้ามี)
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ผู้ตายที่ชื่ออยู่
– หนังสือรับรองการตาย (ถ้าผู้ตายมีผู้รักษาพยาบาลโดยอาชีพ) กรณีที่นายทะเบียนสงสัยว่าอาจเป็นการตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือตายโดยผิดธรรมดา อาจชลอการออกมรณบัตรไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
กรณีตายนอกบ้าน
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบผู้ตายซึ่งเป็นผู้แจ้งและผู้ตาย (ถ้ามี)
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
– กรณีตายที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่นอกท้องที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่
– ต้องนำหนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาลไปแจ้งต่อนายทะเบียน ผู้รับแจ้งที่โรงพยาบาลตั้งอยู่เพื่อขอให้ออกใบมรณบัตร
– ต้องนำใบมรณบัตรพร้อมด้วยหลักฐานที่จะต้องแสดง กรณีคนตายในบ้านหรือกรณีคนตายนอกบ้านไปแสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่
การเตรียมข้อมูลเพื่อแจ้งการตาย

นอกจากจะเตรียมหลักฐานที่ต้องนำไปแสดงแล้ว ผู้แจ้งจะต้องทราบและเตรียมข้อมูลเพื่อแจ้งการตายดังต่อไปนี้
– ชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ เพศ ของผู้ตาย
– ตายเมื่อ วัน เดือน ปี ใด
– ที่อยู่ของผู้ตายและสถานที่ตาย บ้านเลขที่ หมู่ที่ ตรอก ซอย ถนน ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด
– สาเหตุที่ตาย
– ชื่อตัว ชื่อสกุล และสัญชาติของบิดามารดาผู้ตาย
– ศพของผู้ตายจะดำเนินการอย่างไร (เก็บ ฝัง เผา) ที่ไหน เมื่อไร (ถ้ารู้)
ค่าธรรมเนียม
– การแจ้งตายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ
การแจ้งการตายเกินกำหนดเวลา
– ผู้แจ้งต้องไปยื่นคำร้องแจ้งการตายต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น พร้อมหลักฐานที่ต้องนำไปแสดง รวมทั้งข้อมูลที่จะต้องทราบเช่นเดียวกับการแจ้งตายภายในกำหนดเวลา
– นายทะเบียนดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานเมื่อเห็นว่าไม่มีเจตนาแอบแฝง นายทะเบียนผู้รับแจ้งจะออกใบมรณบัตรให้โดยหมายเหตุมุมด้านขวาของมรณบัตรด้วยสีแดง “แจ้งการตายเกินกำหนด” และจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านโดยประทับตราว่า “ตาย” สีแดงไว้หน้าชื่อผู้ตายแล้วคืนสำเนาทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านหรือผู้แจ้ง
โทษของการไม่แจ้งตายภายในกำหนดเวลา
– การแจ้งตายเกินกำหนดเวลาย่อมมีความผิดและเสียค่าปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท