– บุตรที่เกิดโดยบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกันถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียว แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ชายจดทะเบียนรับรองบุตรได้และถือเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายด้วย นับแต่วันจดทะเบียน หรือโดยบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ต้องจดทะเบียนรับรองบุตร หรือโดยคำพิพากษาของศาลให้เด็กนั้นเป็นบุตรของชายผู้เป็นบิดา การจดทะเบียนรับรองบุตรจึงมี ๒ วิธี คือ การรับรองบุตรด้วยความสมัครใจของชายผู้เป็นบิดา และโดยคำพิพากษาของศาล
การรับรองบุตรด้วยความสมัครใจของชายผู้เป็นบิดา
หลักเกณฑ์
– บิดามารดาและบุตรต้องไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสถานทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศแห่งใดก็ได้ ถ้ามารดาและบุตรไม่ไปด้วย นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งไปยังฝ่ายที่ไม่มาเพื่อให้มาให้ความยินยอมหรือคัดค้านการจดทะเบียน ถ้าพ้น ๖๐ วัน นับแต่การแจ้งความของนายทะเบียนไปถึง ถือว่าไม่ให้ความยินยอม ถ้ามารดาและบุตรอยู่ต่างประเทศจะขยายเวลาเป็น ๑๘๐ วัน ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
– บัตรประจำตัวของบิดามารดา
– สูติบัตรของบุตร
– สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
ค่าธรรมเนียม
– การรับรองบุตรด้วยความสมัครใจของชายผู้เป็นบิดา ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ
สถานที่ติดต่อ
– งานปกครอง สำนักงานเขตทุกเขต หรืออำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสถานทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศแห่งใดก็ได้

ขั้นตอนในการติดต่อขอจดทะเบียนการรับรองบุตร

– บิดายื่นคำร้องตามแบบของทางราชการ
– บุตรมารดาลงชื่อให้ความยินยอมที่ด้านหลังคำร้อง
– ถ้าบุตรหรือมารดาไม่ไปให้ความยินยอม นายทะเบียนจะทำหนังสือแจ้งไปยังฝ่ายที่ไม่มาให้มาให้ความยินยอมหรือคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์
การรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาล
หลักเกณฑ์
– บิดา มารดา หรือบุตรหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากประสงค์จะให้มีการรับรองบุตร แต่ไม่สามารถดำเนินการโดยความยินยอมของทุกฝ่ายได้ จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้มีการรับรองบุตรได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
– สำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลรับรองว่าถูกต้อง
ค่าธรรมเนียม
– การรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ
สถานที่ติดต่อ
– งานปกครอง สำนักงานเขตทุกเขต หรืออำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสถานทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศแห่งใดก็ได้
ขั้นตอนในการติดต่อขอจดทะเบียนการรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาล
– ผู้ร้องหรือผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยหลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
– นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารหลักฐานเมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้วก็จะจดทะเบียนรับรองบุตรให้ตามคำร้อง
ข้อควรทราบ
– การจดทะเบียนรับรองบุตร สามารถกระทำได้ ๒ วิธี ได้แก่ การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน และการจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน โดยการจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนต้องเสียค่าธรรมเนียมรายละ ๒๐๐ บาท
– การจดทะเบียนรับรองบุตรไม่มีใบสำคัญออกให้ ถ้าต้องการหลักฐานก็ให้ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านฯ โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ ๑๐ บาท
ประโยชน์ของการจดทะเบียนรับรองบุตร
– เด็กมีสิทธิใช้ชื่อสกุลและรับมรดกของบิดา
– ข้าราชการมีสิทธิได้รับเงินค่าช่วยเหลือต่างๆ ของบุตร
– บิดามีสิทธิได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้