บุตรบุญธรรม คือ บุตรที่ขอมาเลี้ยงดูเสมือนเป็นบุตรของตน

หลักเกณฑ์
๑.ผู้รับจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี และจะต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะต้องเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย ๑๕ ปี
๒.ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องได้รับความยินยอมจาก
– บิดาและมารดา หรือ
– บิดาหรือมารดา (กรณีมารดาหรือบิดาถึงแก่กรรม) หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือ
– ผู้แทนโดยชอบธรรมกรณีไม่มีบิดามารดา
๓.ผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป ต้องลงนามให้ความยินยอมในการเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วย
๔.ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน เว้นแต่
– คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ เช่น วิกลจริต หรือ
– ไปเสียจากภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้ข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี
๕.การรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรมตาม พ.ร.บ. การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยหนังสือแแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอมที่กล่าวไว้ในข้อ ๒ และ ๔ ข้างต้น ณ ที่
๑) ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมกรมประชาสงเคราะห์ กรณีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือ
๒) ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือประชาสงเคราะห์จังหวัด กรณีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น
อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี จะให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม รับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูด้วยตนเองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ก่อนอนุมัติให้ไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ยกเว้นกรณีผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ไม่ต้องมีการทดลองเลี้ยงดูเด็กดังกล่าว
๖.ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอยู่แล้ว จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นในขณะอีกไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรม ของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
๗.พระภิกษุ จะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับบุตรบุญธรรม (และคู่สมรส ถ้ามี)
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นบุตรบุญธรรม ถ้ายังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ให้แสดงสูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านแทน กรณีผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสไปแสดงด้วย
– บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา และมารดา บิดาหรือมารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีไม่มีบิดาและมารดา
– หนังสืออนุมัติให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจากกรมประชาสงเคราะห์ หรือองค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
ค่าธรรมเนียม
– การจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ
สถานที่ติดต่อ
– กรมประชาสงเคราะห์ หรือองค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อได้รับหนังสืออนุญาตจากหน่วยงานดังกล่าวแล้วให้นำไปติดต่องานปกครองสำนักงานเขตที่ผู้รับบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนาอยู่
ขั้นตอนในการติดต่อขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
– ผู้รับบุตรบุญธรรมยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานที่ต้องนำมาแสดง
– ผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป บิดาและมารดา บิดาหรือมารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรม คู่สมรส (ถ้ามี) ไปแสดงตนต่อหน้านายทะเบียนเพื่อลงนามในเอกสารการจดทะเบียนการแสดงความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือของคู่สมรสนั้นให้แสดงตามแบบ คร.๑๓ ด้านหลัง และให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในหน้าบันทึกของทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมแสดงถึงความยินยอมนั้นด้วย
– นายทะเบียน ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและหลักเกณฑ์ต่างๆ เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนก็จะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้ตามคำร้อง
ข้อควรทราบ
– การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ไม่มีใบสำคัญออกให้ ถ้าต้องการหลักฐานให้ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาทะเบียนฯ โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ ๑๐ บาท
– ผู้รับบุตรบุญธรรม มีอำนาจปกครองให้ความอุปการะเลี้ยงดูเสมือนเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย
– บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองบุตร
– ผู้เป็นบุตรบุญธรรม มีสิทธิใช้ชื่อสกุลและรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้เป็นบุตรบุญธรรม
– เมื่อการรับบุตรบุญธรรมเลิกแล้ว บุตรบุญธรรมย่อมกลับคืนไปอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาเดิม