การก่อตั้งสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์อาจจะมีพนักงานทั้งรุ่นเก่าและใหม่ยังไม่ทราบความเป็นมาของการก่อตั้ง ว่าสาเหตุใดทำให้พนักงานต้องรวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา และมีความยากลำบากหรือไม่กว่าจะก่อตั้งได้สำเร็จ เมื่อก่อตั้งแล้วมีการเรียกร้องสวัสดิการ และคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างให้สมาชิกอย่างไร เนื่องจากเวลาได้ผ่านมานานหลายปีอาจจะลำดับเหตุการณ์ได้ไม่หมด แต่จะพยายามหาข้อมูลให้พนักงานรุ่นเก่า พนักงานใหม่ และท่านผู้อ่านทุกท่านได้ทราบที่มาที่ไปมากที่สุด
การก่อตั้งสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ หรือสหภาพแรงงานอื่น ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ จะยกรัฐธรรมนูญและกฎหมายแรงงานบางมาตราเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิลูกจ้างในการจัดตั้งสหภาพแรงงานเท่านั้นมากล่าวไว้ในที่นี้ รัฐธรรมนูญในหลายๆฉบับที่ผ่านมาได้บัญญัติให้สิทธิบุคคลไว้ว่า “บุคคลมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็น สมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์กรเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น” จากบทบัญญัติดังกล่าวที่ให้สิทธิบุคคลในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่ขั้นตอนและวิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงานลูกจ้างผู้มีสิทธิจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 89 บัญญัติว่า การขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานนั้น ให้ลูกจ้างผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคนเป็นผู้เริ่มก่อการยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อนายทะเบียน การที่ลูกจ้างผู้มีสิทธิไม่น้อยกว่าสิบคนเป็นผู้เริ่มก่อการตามบทบัญญัติดังกล่าว ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะคนสิบคนที่มาร่วมอุดมการณ์กันนั้น กว่าจะสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้เป็นหนึ่งเดียวนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ผู้ก่อการสิบคนจะต้องมีความรักสามัคคีกัน ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผองเพื่อน และต้องเป็นบุคคลที่เก็บความลับได้เป็นอย่างดี หากมีคนใดคนหนึ่งนำเรื่องการเตรียมก่อตั้งสหภาพแรงงานไปบอกฝ่ายนายจ้างอาจถูกเลิกจ้างทั้งหมด แม้สหภาพจะเป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เนื่องจากสหภาพแรงงานคืออาวุธอันทรงพลังของลูกจ้างที่จะเข้าไปคานอำนาจของฝ่ายนายจ้างในกรณีกระทำอันไม่เป็นธรรมและไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงไม่มีนายจ้างคนใดที่จะยอมให้ลูกจ้างภายใต้บังคับบัญชาของตนไปสร้างองค์กรที่มีอำนาจมาคอยคานอำนาจหรือคัดค้านนโยบายของตนเอง

สหภาพแรงงานมีวัตถุประสงค์ เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง และส่งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน

สำหรับวัตถุประสงค์

1. เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง นับตั้งแต่สหภาพแรงงานก่อตั้งขึ้นได้ดำเนินการตามวัตุประสงค์ดังกล่าวให้กับสมาชิกตลอดมา อาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง นั่นเป็นเรื่องการเจรจาต่อรองกับฝ่ายนายจ้างโดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริงของแต่ละเรื่อง

2. ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ว่าสหภาพแรงงานใดก็มีความปรารถนาอย่างเดียวกันคืออยากให้มีแรงงานสัมพันธ์อันดีในองค์กรทั้งในส่วนของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ก็พยามดำเนินการตลอดมา แต่แรงงานสัมพันธ์อันดีจะเกิดขึ้นไม่ได้หากฝ่ายนายจ้างไม่เอาด้วย ซึ่งเมื่อครั้งอดีตย้อนหลังไปประมาณเจ็ดปี แรงงานสัมพันธ์ระหว่างสหภาพกับฝ่ายนายจ้างถือว่าอยู่ในระดับดี แต่ช่วงเจ็ดปีหลังยุคผู้บริหารมืออาชีพแรงงานสัมพันธ์เสื่อมลงไปอย่างน่าเสียดาย ปัจจัยที่จะบ่งชี้ว่าแรงงานสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานจะดีหรือไม่มาจากวัตถุประสงค์ข้อ 1. กล่าวคือ เมื่อสหภาพดำเนินการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เช่น การยื่นข้อเรียกร้อง การคัดค้านการแก้ไขสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณ การพิพาทแรงงาน การจัดชุมนุม การฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน สาเหตุเหล่านี้ทำให้แรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับสหภาพเสื่อมลงได้ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เคารพต่อกฏกติกาและไม่เข้าใจบทบาทการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน แต่การฟื้นฟูแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรไม่ใช่เรื่องยากเพราะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแต่ฝ่ายนายจ้างไม่ยึดติดกับคำว่าอำนาจ ศักดิ์ศรี หรือเกียรติยศ มีความจริงใจที่จะฟื้นฟูและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างแล้วนำไปแก้ไขอย่างจริงจัง

3. แรงงานสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างด้วยกัน ในส่วนนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากพนักงานเริ่มเข้าใจในบทบาทของสหภาพแรงงานมากขึ้น จึงได้ร่วมมือร่วมใจกันสมัครเป็นสมาชิกเข้ามา

การก่อตั้งสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ มีพนักงานพยายามรวมตัวกันก่อตั้งมาร่วม 9 ปี แต่ไม่ประสพความสำเร็จ แต่ความพยายามมาสำเร็จในช่วง ปี พ.ศ. 2538 สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานรวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงานมาจากในระบบธนาคารได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะด้านบุคคลากร ที่ผ่านมาไม่มีระบบแรงงานสัมพันธ์คอยรักษาสิทธิประโยชน์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดูแลพนักงาน เช่น รายได้ สวัสดิการ ความมั่นคงในการทำงาน และสิทธิอันพึงมีพึงได้อื่นๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นเพื่อให้สิทธิและผลประโยชน์ที่มีอยู่ให้คงอยู่เหมือนเดิมและให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น การรวมตัวกันอย่างถูกต้องย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการร่วมกันคิด ร่วมกันทำให้ขวัญกำลังใจของพนักงานดีมากขึ้น อันจะมีผลต่อการประกอบการของธนาคารอย่างมาก สมกับเป็นธนาคารชั้นนำตลอดไป อีกสาเหตุหนึ่งมาจากในปีดังกล่าวฝ่ายจัดการธนาคารในขณะนั้นได้มีนโยบายจัดตั้งบริษัทในเครือ โดยมีเป้าหมายให้พนักงานที่สังกัดฝ่ายธุรการโอนย้ายไปอยู่บริษัทโดยเขียนใบลาออกจากธนาคาร เช่น พนักงานระดับปฏิบัติการ พนักงานขับรถยนต์ พนักงานขับขี่รถจักรยานยนต์ ลูกจ้างเดินหนังสือ แม่บ้าน รปภ. แต่มีพนักงานบางส่วนไม่ประสงค์จะโอนย้ายไปบริษัท ฝ่ายจัดการใช้กลยุทธ์ต่างๆให้โอนย้ายไปให้ได้ เมื่อฝ่ายจัดการกดดันมากๆพนักงานกลุ่มเป้าหมายในขณะนั้น จึงรวมตัวกันต่อสู้โดยก่อตั้งสหภาพแรงงาน ทำแบบลับๆจึงสามารถก่อตั้งได้สำเร็จ และได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 เมื่อก่อตั้งสำเร็จถูกฝ่ายจัดการต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆอยู่ระยะหนึ่ง ถึงขั้นหาวิธีล้มสหภาพให้ได้

ผู้เริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานและคณะกรรมการบริหารชุดแรก

1. นายสมชัย แสงทอง
2. นายสมศักดิ์ อู่มั่น
3. นายไพรัช อู่มั่น
4. นายสุวัฒน์ ปาระจิตต์
5. นายแก้ว เทสินประโชติ
6. นายไพโรจน์ อินทร์สวาท
7. นายนคร จิตสมพงษ์
8. นายเรวัติ รามบุตร
9. นายพยงค์ เนตรจุ้ย
10. นายน้ำเงิน หลั่งศรีสุข
11. นายสมพงษ์ มาลาอี
12. นายมานิตย์ บุญบำลุ
13. นายสนั่น กระต่ายทอง
14. นายธวัช ตระราศรี

หลังจากก่อตั้งสำเร็จแล้ว ในปี พ.ศ. 2539 สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายจัดการธนาคาร เป็นการยื่นครั้งแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ข้อเรียกร้องตกไป เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด สาเหตุที่มีจำนวนสมาชิกไม่ครบมาจาก 1. พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 95 วรรคสาม บัญญัติว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การให้บำเหน็ด หรือการลงโทษ จะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่นจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ และลูกจ้างอื่นจะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ได้จัดตั้งขึ้นหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงกระทบต่อคุณสมบัติการสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน กล่าวคือ ระดับชั้นของพนักงานในขณะนั้นมีระดับช่วยบริหาร(ชบ.) ซึ่งฝ่ายจัดการในขณะนั้นได้อาศัยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมอบอำนาจให้ซึ่งเป็นอำนาจแฝง เพื่อตักเตือนพนักงานระดับชั้นต้น ชั้นกลาง บริการและลูกจ้าง แม้พนักงานระดับช่วยบริหารจะได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายจัดการ ก็ไม่มีอำนาจตักเตือนพนักงานระดับชั้นดังกล่าว เพราะพนักงานช่วยบริหารส่วนใหญ่นั่งเคาร์เตอร์เบิกถอนเงิน และพนักงานระดับชั้นต้น ชั้นกลาง บริการและลูกจ้าง ไม่ใช่ลูกน้องของตน การที่ฝ่ายจัดการอาศัยกฎหมายมอบอำนาจให้พนักงานช่วยบริหารก็เป็นเพียงกลยุทธ์ในการต่อสู้กับสหภาพแรงงานในขณะนั้นเท่านั้น เมื่อฝ่ายจัดการใช้เทคนิคทางกฎหมายจึงทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยพนักงานชั้นต้น ชั้นกลาง บริการและลูกจ้าง เป็นระดับผู้ใต้บังคับบัญชา และช่วยบริหารขึ้นไปเป็นระดับผู้บังคับบัญชา 2. ฝ่ายจัดการออกหนังสือต่อต้านสหภาพแรงงาน จึงทำให้พนักงานเกิดความกลัวว่าหากสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแล้วจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน 3. องค์กรสหภาพแรงงานยังใหม่ และการประชาสัมพันธ์เพื่อให้พนักงานได้เข้าใจถึงสิทธิของตนว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์และได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างไรเมื่อสมัครเป็นสมาชิกยังทำได้ไม่ทั่วถึงพนักงานทั้งหมด ทั้งสามข้อดังกล่าวคือสาเหตุที่ทำให้สมาชิกมีจำนวนไม่ครบตามกฎหมายและทำให้ข้อเรียกร้องตกไป เมื่อมีจำนวนสมาชิกไม่ครบ สหภาพต้องเรียกร้องในนามพนักงานโดยให้พนักงานร่วมกันลงชื่อ แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและการกดดันจากฝ่ายจัดการที่พยายามให้พนักงานถอนชื่อ มีพนักงานบางส่วนถอนชื่อออก แต่ส่วนมากไม่ยอมถอนชื่อจนผลักดันให้ข้อเรียกร้องประสพความสำเร็จ แต่กว่าจะสำเร็จได้ต้องถึงขั้นพิพาทแรงงานและรวมตัวกันชุมนุม ในการชุมนุมครั้งนั้นมีองค์กรพันธมิตรด้านแรงงานเข้ามาร่วมให้กำลังใจ เช่น สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือ สหภาพแรงงานการบินไทย สหภาพแรงงานภาคธนาคารต่างๆ และผู้ใช้แรงงานกลุ่มย่านรังสิต แม้องค์กรพันธมิตรด้านแรงงานที่กล่าวมาจะเป็นองค์กรภายนอก แต่ในทางกระบวนการแรงานถือเป็นพี่น้องกันทั้งสิ้น เมื่อใครเดือดร้อนก็ต้องช่วยเหลือกัน ดังคำกล่าวที่ว่า แรงงานทั้งผอง เราพี่น้องกัน”

ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายพนักงานปี พ.ศ. 2539

1. นายอดิศร์ ไวชนะ
2. นายสมชัย แสงทอง
3. นายสนั่น กระต่ายทอง
4. นายวรพงศ์ สุธารัตน์พงศ์
5. นายวิศิษฎ์ ปาสาทิกะ
6. นายเรวัตร รามบุตร
7. นายแก้ว เทสินประโชติ

ปี พ.ศ. 2542 สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายจัดการ การเรียกร้องในครั้งนี้ใช้เวลาในการเจรจาประมาณเจ็ดเดือน แต่ไม่มีการพิพาทแรงงาน ไม่มีการชุมนุม เนื่องจากสามารถทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันได้บนโต๊ะเจรจา การเจรจาข้อเรียกร้องทำให้จบลงบนโต๊ะเจราจาไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ แต่การตกลงกันได้โดยง่ายในครั้งนี้มาจากแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากตัวแทนฝ่ายจัดการที่เข้ามาดูแลเรื่องแรงงานสัมพันธ์เป็นบุคคลมีความเข้าใจระบบแรงงานสัมพันธ์ มีความเข้าใจถึงความต้องการของลูกจ้าง และเข้าใจถึงบทบาทการทำหน้าที่ของสหภาพแรงงานในฐานะองค์กรตัวแทนของลูกจ้างที่อยู่ภายใต้กฎกติกาของกฎหมาย สหภาพขอขอบคุณคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายธนาคารไว้ ณ ที่นี้

ผู้แทนเจรจาฝ่ายสหภาพแรงงานปี พ.ศ. 2542

1. นายสมชัย แสงทอง
2. นายแก้ว เทสินประโชติ
3. นายบรรลือศักดิ์ สีลา
4. นายสุรินทร์ สุไลศรี
5. นายไวทิต ศิริสุวรรณ ปี พ.ศ. 2550

สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายจัดการธนาคาร การเจรจาข้อเรียกร้องในครั้งนี้ใช้เวลากว่าสิบเดือนจึงตกลงกันได้ แต่กว่าจะตกลงกันได้ต้องพิพาทแรงงาน จัดชุมนุม เมื่อทำข้อตกลงกันได้แล้วก็เกิดปัญหาว่าฝ่ายจัดการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในบางข้อ สหภาพแรงงานจึงนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อให้ฝ่ายจัดการปฏิบัติตามข้อตกลง แต่คดียังไม่ถึงที่สุด สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ และสหภาพแรงงานอยากเห็นแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรฟื้นกลับมาเหมือนในอดีต จึงถอนฟ้องในเวลาต่อมา

ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายสหภาพแรงงาน ปี พ.ศ. 2550

1. นายสมศักดิ์ อู่มั่น
2. นายณรงค์ศักดิ์ กิตติวรกุล
3. นายไวทิต ศิริสุวรรณ
4. นายบรรลือศักดิ์ สีลา
5. นายชุมพร บุญสนอง
6. นายมนตรี ชินวงษ์
7. นายสนธยา งิ้วคอย

ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายสหภาพแรงงาน ปี พ.ศ. 2552

1. นายสมศักดิ์ อู่มั่น ตำแหน่ง ประธานสหภาพแรงงาน (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
2. นายณรงค์ศักดิ์ กิตติวรกุล ตำแหน่งรองประธานด้านกฎหมายและคุ้มครองแรงงาน
3. นายไวทิต ศิริสุวรรณ ตำแหน่ง รองประธานด้านวิชาการและพัฒนาองค์กร
4. นายสุวัฒน์ ปาระจิตต์ ตำแหน่ง รองประธานด้านกิจกรรมพิเศษ
5. นายสนธยา งิ้วคอย ตำแหน่ง รองประธานด้านขยายสมาชิก
6. นายบรรลือศักดิ์ สีลา ตำแหน่งเลขานุการสหภาพแรงงาน (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
7. นางสาวศิริพร ไชยสวัสดิ์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการ
8. นายชุมพร บุญสนอง ตำแหน่ง เหรัญญิก (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
9. นายแสนชั แสงใส ตำแหน่ง นายทะเบียน
10. นายสมชัย แสงทอง ตำแหน่ง ด้านกฎหมาย
11. นายก้องเกียรติ บุตรตาด ตำแหน่ง ด้านสวัสดิการและนันทการ
12. นายอดุลย์ เกตุเที่ยงกิจ ตำแหน่ง ด้านแรงงานสัมพันธ์
13. นายวิเชียร มีจอ ตำแหน่ง ด้านขยายสมาชิก
14. นางสาววารินทร์ สมฤทธ์ ตำแหน่ง ด้านขยายสมาชิก
15. นายชาญชัย วงษ์ไพบูลย์ ตำแหน่งด้านรับเรื่องร้องทุกข์
16. นายสมศักดิ์ มงคล ตำแหน่ง ด้านรับเรื่องร้องทุกข์
17. นายเสถียร อินทรฤทธิ์ ตำแหน่ง ด้านประสานงานทั่วไป
18. นางสาวปราริชาติ ไทยราษฎร์ ตำแหน่ง ด้านฝึกอบรม

ปี พ.ศ. 2552 สหภาพแรงงานไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายจัดการธนาคาร แต่สหภาพแรงงานต้องจัดชุมนุมคัดค้าน เนื่องจากฝ่ายจัดการละเมิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้ทำไว้กับสภาพแรงงานเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 โดยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ฝ่ายจัดการมีนโยบายจัดตั้งบริษัทติดตามหนี้ บริษัท ไทยพาณิชย์พลัส จำกัด และยุบเลิกหน่วยงานพัฒนาสินเชื่อที่มีหลักประกัน พัฒนาสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และพัฒนาสินเชื่อรถยนต์ โดยฝ่ายจัดการจะให้พนักงานหน่วยงานดังกล่าวโอนย้ายไปบริษัท กรณียุบเลิกหน่วยงานฝ่ายจัดการได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับสหภาพแรงงานเมื่อปี พ.ศ. 2542 ว่า ในกรณีที่ธนาคารมีความจำเป็นต้องยุบเลิกหน่วยงานเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรและลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะและการประกอบการของธนาคาร ธนาคารตกลงจัดหาตำแหน่งงานตามระดับชั้นที่ไม่ด้อยไปกว่าเดิมภายในธนาคารให้ตามความสามารถและคุณสมบัติของพนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นตามความเหมาะสม” ข้อตกลงดังกล่าวได้ทำไว้เป็นเวลาสิบปีซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 สหภาพได้นำมาใช้จริงและใช้เป็นครั้งแรกกับกรณีฝ่ายจัดการยุบเลิกหน่วยงานดังกล่าว การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง จนนำไปสู่ข้อพิพาทแรงงานและจัดชุมนุม หรือฟ้องต่อร้องศาลแรงงาน เป็นไปตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้ แต่หากแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรดีปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาบุคคลหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลระบบแรงงานสัมพันธ์ต้องมีความจริงใจที่จะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานที่สื่อผ่านสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของเขา หากพนักงานได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรมก็จะเกิดขวัญกำลังใจนำความก้าวหน้ามาสู่ธนาคาร

ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายสหภาพแรงงาน ปี พ.ศ. 2554

1. นายไวทิต ศิริสุวรรณ ตำแหน่ง ประธานสหภาพแรงงาน (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
2. นายสนธยา งิ้วคอย ตำแหน่ง รองประธานด้านขยายสมาชิก
3. นายเอก กุยยกานนท์ ตำแหน่ง รองประธานด้านกฎหมายและคุ้มครองแรงงาน
4. นายสมชัย แสงทอง ตำแหน่ง รองประธานด้านวิชาการและพัฒนาองค์กร
5. นายวัชรินทร์ กุลจิรารักษ์ ตำแหน่ง รองประธานด้านกิจกรรมพิเศษ
6. นายสาธิต กฤดิกุล ตำแหน่งเลขานุการสหภาพแรงงาน (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
7. นายชุมพร บุญสนอง ตำแหน่ง เหรัญญิก (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
8. นายโกวิทย์ สงไขย ตำแหน่ง นายทะเบียน
9. นายสมชัย ดำรงพลสถาพร ตำแหน่ง กรรมการด้านรับเรื่องร้องทุกข์
10.นายวีรวุฒิ นันกลาง ตำแหน่ง กรรมการด้านประชาสัมพันธ์
11 นายสุวัฒน์ ปาระจิตต์ ตำแหน่ง กรรมการด้านขยายสมาชิก

ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายสหภาพแรงงาน ปี พ.ศ. 2556

1. นายไวทิต ศิริสุวรรณ ตำแหน่ง ประธานสหภาพแรงงาน (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
2. นายสนธยา งิ้วคอย ตำแหน่ง รองประธานด้านขยายสมาชิก
3. นายเอก กุยยกานนท์ ตำแหน่ง รองประธานด้านกฎหมายและคุ้มครองแรงงาน
4. นายสมชัย แสงทอง ตำแหน่ง รองประธานด้านวิชาการและพัฒนาองค์กร
5. นายธนพัชร์ คัมภิรานนท์ ตำแหน่ง กรรมการด้านต่างประเทศ
6. นายวัชรินทร์ กุลจิรารักษ์ ตำแหน่ง รองประธานด้านกิจกรรมพิเศษ
7. นายสาธิต กฤดิกุล ตำแหน่งเลขานุการสหภาพแรงงาน (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
8. นายชุมพร บุญสนอง ตำแหน่ง เหรัญญิก (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
9. นายโกวิทย์ สงไขย ตำแหน่ง นายทะเบียน
10. วรพจน์ พ่วงจีน ตำแหน่ง กรรมการด้านรับเรื่องร้องทุกข์
11.นายวีรวุฒิ นันกลาง ตำแหน่ง กรรมการด้านประชาสัมพันธ์
12. นายอดุลย์ เกตุเที่ยงกิจ ตำแหน่ง กรรมการด้านขยายสมาชิก
13. นายกฤษฎา พลพุฒ ตำแหน่ง กรรมการด้านขยายสมาชิก

ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายสหภาพแรงงาน ปี พ.ศ. 2559
1.นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานกรรมการ
2.นายสาธิต กฤดิกุล เลขานุการ
3.นางสาวพัชรินทร์ พูลเกษม ผู้ช่วยเลขานุการ
4.นายสุขสันติ เตชะวงษ์ฉิมพลี รองประธาน ด้านบริหารโครงสร้างองค์กร
5.นายเอก กุยยกานนท์ รองประธาน ด้านการศึกษาและวิชาการ
6.นายธนพัชร์ คัมภิรานนท์ รองประธาน ด้านต่างประเทศและกฎหมาย
7.นายสมชัย แสงทอง รองประธาน ด้านรับเรื่องราวร้องทุกข์
8.นายพงษ์ธร กิจส่องแสง รองประธาน ด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์
9.นายโกวิทย์ สงไขย เหรัญญิก
10.นายวีรวุฒิ นันกลาง นายทะเบียน
11.นางสาวณัฏฏ์ฐณิญา ฉินกระจ่างเนตร์ ผู้ช่วยนายทะเบียน
12.นายวรวุธ ทำมารุ่งเรืองกรรมการ ด้านบริหารโครงสร้างองค์กร
13.นายวัชรินทร์ กุลจิรารักษ์ กรรมการ ด้านการศึกษาและวิชาการ
14.นายวรพจน์ พ่วงจีน กรรมการ ด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์
15.นายอดุลย์ เกตุเที่ยงกิจ กรรมการ ด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์
16.นายสมมาตร์ มะสกุล กรรมการ ด้านรับเรื่องราวร้องทุกข์
17.นางสาวทรตา แก้วอยู่ กรรมการ ด้านต่างประเทศและกฏหมาย

ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายสหภาพแรงงาน ปี พ.ศ. 2562

1. นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานกรรมการ (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
2. นายณรงค์ศักดิ์ กิตติวรกุล รองประธานด้านรับเรื่องราวร้องทุกข์
3. นายสาธิต กฤดิกุล รองประธาน ด้านต่างประเทศและกฏหมาย
4. นายสุขสันติ เตชะวงษ์ฉิมพลี รองประธาน ด้านบริหารโครงสร้างองค์กร
5. นายเอก กุยยกานนท์ รองประธาน ด้านการศึกษาและวิชาการ
6. นายอดุลย์ เกตุเที่ยงกิจ รองประธาน ด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์
7. นายพงษ์ธร กิจส่องแสง เลขานุการ (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
8. นางสาวพัชรินทร์ พูลเกษม ผู้ช่วยเลขานุการ
9. นายโกวิทย์ สงไขย เหรัญญิก (โดยมติที่ประชุมใหญ่)
10. นายวีรวุฒิ นันกลาง นายทะเบียน
11. นายปิยะ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยนายทะเบียน
12. นายวัชรินทร์ กุลจิรารักษ์ กรรมการ ด้านการศึกษาและวิชาการ
13. นายวรพจน์ พ่วงจีน กรรมการ ด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์
14. นางสาวทรตา แก้วอยู่ กรรมการ ด้านต่างประเทศและกฏหมาย
15. นายธนวัช วันเพ็ญ กรรมการ ด้านบริหารโครงสร้างองค์กร
16. นายลิขิต งามปัญญา กรรมการ ด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์

การสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายแรงงานให้สิทธิไว้ จึงเป็นการสร้างความมั่นคงในการทำงานของทุกท่าน โปรดร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนให้สหภาพแรงงานองค์กรตัวแทนของท่านก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและมั่นคงโดยสมัครเป็นสมาชิกสหภาพ เพื่อให้สหภาพทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ และเรียกร้องรายได้ สวัสดิการ ความมั่นคงในการทำงานให้กับทุกท่านตลอดไป

เกียรติยศ เกิดจากการกระทำที่สุจริต”

เมื่อใดที่เราหยุดต่อสู้เพื่อเพื่อนมนุษย์ ก็คือเมื่อนั้นแหละที่เราจบสิ้นความเป็นมนุษย์”

สหภาพแรงงานขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนด้วยดีตลอดมา