คำพิพากษา
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ที่ 7242 – 7254/2545

ศาลฎีกา
วันที่ 27 เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2545
ความแพ่ง
นายปกรณ์ เฟื่องกำลูน( ที่ 1 ), นางสาวรุจิรา เอื้อวิศาลสิน( ที่ 2 ), นางสมาภรณ์ แวโนะ( ที่ 3 ), นายวิชัย อานุภาพไตรภพ( ที่ 4 ), นายสมกิจ เลียดประถม( ที่ 5 ), นางสาวสิริพร แซ่โง้ว( ที่ 6 ), นางอภิญญา ปราชญากุล( ที่ 7 ), นางเสาวณีย์ แก้วกุศลสกุล หรือ แสงทอง( ที่ 8 ),นางเมทินี อหันทริก( ที่ 9 ), นางสาวสุภาพร ประยูรธัญการย์( ที่ 10 ), นางฟารีนา หรือ พรศรี คุ้มบ้าน ( ที่ 11 ), นางชวจรรย์ เจียมมรกต หรือ เชี่ยวเจริญ( ที่ 12 ), นายนัฐรัตน์ ลวดลาย( ที่ 13 )
โจทก์
ธนาคารซากุระ จำกัด ที่ 1
ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่นที่ 2 จำเลย

เรื่อง คดีแรงงาน
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวน อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษา
ศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 21 เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2544
ศาลฎีกา รับวันที่ 8 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2545
คดีทั้งสิบสามสำนวน ศาลแรงงานกลาง มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึง โจทก์ที่ 13 กับเรียกจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ทั้งสิบสามสำนวนว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2

โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลในต่างประเทศจดทะเบียน ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เดิมจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อว่า ธนาคารซูมิโตโม จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 ได้ควบรวมกิจการกับจำเลยที่ 1 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ผลการควบรวมกิจการดังกล่าว ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์ และจำเลยที่ 2 ต้องรับโอนกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสิบสามเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เริ่มทำงานและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาคดีจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือเสนอต่อพนักงานทุกคน ให้ยอมรับการโอนย้ายจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ไปเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โดยกำหนดให้ลงลายมือชื่อยอมรับสภาพการจ้างตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งจัดทำขึ้นมาโดยพลการและกำหนดค่าจ้างกับผลประโยชน์ ตอบแทนการทำงานต่ำกว่าเดิม ในขณะที่พนักงานซึ่งรับโอนจากธนาคารซูมิโตโม จำกัด ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 กำหนดให้พนักงานทุกคนลงลาย มือชื่อตอบรับสภาพการจ้างใหม่ ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2545 หากไม่ลงลายมือชื่อจะเลิกจ้าง ระหว่างที่จำเลยที่ 1 กับธนาคาร ซูมิโตโม จำกัด กำลังดำเนินการควบรวมกิจการอยู่นั้น เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 แจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต่อจำเลยที่ 1 ให้ยอมรับพนักงานทุกคนเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 โดยได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานตามสภาพการจ้างเดิมทุกประการ หากพนักงานคนใดไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ให้ถือว่าพนักงานคนดังกล่าวครบเกษียณอายุและให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนเป็นกรณีพิเศษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยืนยันว่า พนักงานที่ประสงค์จะเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องยอมรับ สภาพการจ้างใหม่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่จำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นซึ่งจะได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานลดต่ำกว่าเดิมต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้ประกาศข้อพิพาทแรงงาน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สหภาพแรงงานจึงขอยุติการไกล่เกลี่ยและประกาศข้อพิพาทแรงงาน ให้เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีคำสั่งให้คณะกรรมการแรงงาน สัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2544 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำชี้ขาดว่าสหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อมาภายหลังได้จดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2544 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องจึงให้ยกเสีย โดยไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานครั้งนี้แต่อย่างใดหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป การเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ทั้งสิบสามได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานทุกคนในอัตราปีละ 4 เท่าของเงินเดือน โดยแบ่งจ่ายปีละ 2 งวด งวดละ 2 เท่าของเงินเดือน กำหนดจ่ายในเดือนมิถุนายน และ ธันวาคมของแต่ละปี จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 ซึ่งครบกำหนดจ่ายเงินโบนัสงวดแรกแต่จำเลยที่ 1 ยังไม่จ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ทั้งสิบสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายและเงินโบนัสตามบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาคดีแก่โจทก์ทั้งสิบสามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบสาม

จำเลยที่ 1 ทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางด้านการเงินและการแข่งขันในธุรกิจธนาคารอย่างรุนแรง จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นต้องควบรวมกิจการกับธนาคารซูมิโตโม จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายและให้ธนาคารสามารถดำรงอยู่และแข่งขันต่อไปได้ โดยเป็นการควบรวมกิจการทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ในการควบรวมกิจการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ส่วนธนาคารซูมิโตโม จำกัดยังดำรงอยู่และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 1 จะโอนมายังจำเลยที่ 2 ก่อนควบรวมกิจการ จำเลยที่ 1 ได้ประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบว่าจะมีการโอนพนักงานไปทำงานกับจำเลยที่ 2 โดยได้รับอัตราเงินเดือนไม่น้อยกว่าเดิมและนับอายุการทำงานต่อเนื่อง แต่สวัสดิการและผลประโยชน์อาจจะแตกต่างจากเดิมบ้าง ขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งจะประกาศใช้ โดยให้ส่งคำตอบแก่จำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 พนักงานทุกคนที่ตอบตกลงภายในวันดังกล่าวจะได้รับโอนไปทำงานกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ทั้งสิบสามไม่ได้ส่งคำตอบให้จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้แจ้งให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้างพนักงานที่มิได้ตอบรับการทำงานกับจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 โดยจะเลิกจ้างหลังจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 หลังจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานจำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 และได้จ่ายค่าชดเชยกับเงินอื่นใดตามกฎหมายให้โจทก์ทั้งสิบสามแล้ว สำหรับเงินโบนัสอัตรา 2 เท่าของเงินเดือน จำเลยที่ 1 ได้จ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามแล้วเช่นเดียวกันขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เนื่องจากไม่ได้แสดงเจตนาโอนย้ายเข้าสู่สถานภาพพนักงานของจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบสามกับจำเลยที่ 2 ยังไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและเงินโบนัสตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสิบสาม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสามสำนวน

โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ง ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสาม คำให้การของจำเลยทั้งสอง คำแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความ และคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้องและบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาคดี จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ จดทะเบียน ณ ประเทศญี่ปุ่นและได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 และธนาคารซูมิโตโม จำกัด ได้ควบรวมกิจการ ผลจากการควบรวมกิจการได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการจดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งต่อพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ว่าลูกจ้างที่ต้องการโอนไปทำงานกับจำเลยที่ 2 ให้ตอบรับข้อเสนอรับเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 มิฉะนั้นจะถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้าง แต่โจทก์ทั้งสิบสามมิได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวในระหว่างที่จำเลยที่ 1 กับธนาคารซูมิโตโม จำกัด กำลังดำเนินการควบรวมกิจการอยู่นั้น เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 จึงประกาศข้อพิพาทแรงงานให้เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานครั้งนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์และไม่ได้ประกอบธุรกิจอีก หลังจากนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานว่า สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งได้จดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์ไปแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจบังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 และจำเลยที่ 1 ได้นำเงินโบนัสพร้อมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามมาวางศาลครบถ้วนแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสามว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสามเนื่องจากโจทก์ทั้งสิบสามถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 บัญญัติว่า “ ในกรณีที่กิจการได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างเนื่องจากการโอน รับมรดกหรือด้วยประการอื่นใด หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลและมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโอน หรือความกับนิติบุคคลใด สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมเช่นใดให้ลูกจ้างมีสิทธิเช่นว่านั้นต่อไป และให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิบสามและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ “ บทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ต้องถูกออกจากงานหรือถูกลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ใดที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้างตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนควบรวมกิจการเข้ากับธนาคารซูมิโตโม จำกัด แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไป ผลของการควบรวมกิจการดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เพียงแต่จำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสภาพไปโดยผลของการควบรวมกิจการกับธนาคารซูมิโตโม จำกัด อันเป็นนิติบุคคลอื่นเท่านั้น และเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1243 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังต้อบรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 577 วรรคแรก บัญญัติไว้อีกด้วย โดยผลของกฎหมายดังกล่าวลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้แสดงเจตจำนงออกมาอย่างชัดแจ้งว่าประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ตาม ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไป เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รายที่ได้แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าว เนื่องจากสหภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้หมดสิ้นไปเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ทั้งสิบสามไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้วดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสามฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้สิ้น สหภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 ได้สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะก่อนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ทั้งสิบสามตามที่โจทก์ทั้งสิบสามกล่าวอ้างอีก คดีจึงมีปัญหาต้องวินัจฉัยต่อไป เพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ หากมีการเลิกจ้างจริงการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล แต่ที่พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 โดยวินัจฉัยว่าโจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โดยให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ หากมีการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสาม ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

นายปัญญา สุทธิบดี
นายพันธาวุธ ปาณิกบุตร
นายจรัส พวงมณี


“การประเมินผลงานต่ำเลิกจ้างไม่ได้” (ฎีกาย่อ) คำพิพากษาฎีกาที่๒๘๓๒–๒๘๓๓/๒๕๔๖

บริษัท ยูโนแคล ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ร้อง นายสมพงษ์ ทองมาก กับพวก ผู้คัดค้าน

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 (ม.๑๒๑)

ผู้ร้องประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติต้องใช้บุคลากรจำนวนมากการดำเนินกิจการมีกำไรตลอดมา ทั้งปริมาณงานและผลผลิตมิได้ลดลงส่วนที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าลดลงทำให้ต้องผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติลดลงนั้นเป็นเพียงการคาดคะเนแม้เป็นมูลเหตุให้ผู้ร้องต้องปรับโครงสร้างบุคลากร แต่ก็ไม่มีผลทำให้ต้องยุบหน่วยงานที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างทำงานอยู่ผู้ร้องกลับจ้างลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกหลายคนแม้มิได้ให้ทำงานในแผนกที่ผู้คัดค้านทำงานอยู่ แต่ย่อมจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นส่วนการลดจำนวนบุคลากรลงให้เหมาะสมกับงาน แม้ผู้ร้องได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นพิจารณาแก่ลูกจ้างทุกคนแต่ผลการประเมินได้ระบุเพียงว่าผลปฏิบัติงานของผู้คัดค้านได้คะแนนต่ำสุดของหน่วยงานเท่านั้นโดยไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านไม่สามารถทำงานให้ดีได้ หรือทำงานให้ผู้ร้องเสียหายอย่างไรหรือได้กระทำผิดประการใดหรือมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องเลิกจ้างเฉพาะผู้คัดค้านเท่านั้น จึงไม่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอถึงขนาดที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

คดีทั้งสองศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันโดยเรียกผู้คัดค้านตามลำดับสำนวนว่าผู้ค้านที่ ๑ และที่ ๒

ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่าผู้คัดค้านทั้งสอง เป็นลูกจ้างผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างในกิจการของผู้ร้อง ซึ่งประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศนับแต่ปลายปี๒๕๔๑ ราคาน้ำมันก๊าซและธรรมชาติตกต่ำลงทั่วโลกทั้งปริมาณการใช้ลดลงเนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจส่งผลให้ยอดจำหน่ายลดลงจากเหตุต่างๆที่เกิดขึ้น ตลอดจนเหตุที่จะเกิดในอนาคตผู้ร้องจะต้องประสบปัญหาดังกล่าวไปอีกนาน และจะประสบปัญหาด้านการแข่งขันทางการตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี ๒๕๔๒ถ้าผู้ร้องไม่ปรับปรุงการดำเนินงาน ทุกด้านเพื่อรองรับสภาวการณ์ดังกล่าวแล้วผู้ร้องจะต้องประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจอย่างรุนแรง ผู้ร้องจำต้องลดปริมาณงานและค่าใช้จ่ายต่างๆส่วนที่เกินความจำเป็นในการประกอบการ ให้เหลือเท่าที่จำเป็นส่วนหนึ่งของการลดปริมาณงานและค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินความจำเป็นคือการลดบุคลากรลง ให้มีจำนวนเหมาะสมกับงานที่มีอยู่ผู้ร้องได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์หาจำนวนบุคลากรที่จำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินกิจการ ในภาวะปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการจัดสรรบุคลากรตลอดจนสิทธิประโยชน์อันพึงตอบแทนต่อพนักงาน ซึ่งอยู่ในข่ายต้องถูกปรับลดและสมัครใจลาออกคณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปด้วยความเป็นธรรม จนสรุปได้ว่ามีพนักงานที่ปรับลดลงได้ ๕๑ คนโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการของผู้ร้องทั้งในภาวะปัจจุบันและอนาคตอันใกล้จึงได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ต่างๆดังกล่าวจนในที่สุดมีพนักงานสมัครใจออกจากงาน ตามโครงการไปแล้ว ๔๙ คนผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพนักงานซึ่งมีคุณสมบัติต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะต้องถูกปรับลดผู้ร้องจึงได้เสนอให้ลาออกโดยรับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับพนักงานอื่นๆแต่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ตกลงยินยอมลาออกเนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสองเป็นกรรมการลูกจ้างผู้ร้องไม่อาจเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้โดยพลการจึงร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง

ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องมีผลประกอบการดีขึ้นยอดขายสูงขึ้น และมีกำไรมาโดยตลอดทั้งราคาน้ำมันก็สูงขึ้นปริมาณงานไม่ได้ลดลงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง และผู้ร้องรับผู้รับเหมาเข้ามาทำงานมากขึ้นอีกด้วย ผู้ร้องต้องการลดพนักงานเพียง ๕๑คน แต่มีผู้สมัครใจลาออกถึง ๕๒ คนผู้ร้องชอบที่จะเลือกพนักงานที่ประสงค์จะลาออกก่อนผู้ร้องไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรพนักงานอีกผู้ร้องไม่เคยแจ้งหลักเกณฑ์ในการจัดสรรให้พนักงานทราบ ที่ผู้ร้องต้องการเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างเป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้คัดค้านทั้งสองตามระเบียข้อบังคับของผู้ร้องเรื่อง นโยบายบริหารงานบุคคลพนักงานของผู้ร้องเกษียณอายุ๕๕ ปีมีสวัสดิการต่างๆโดยเฉพาะพนักงานที่ต้องออกไปทำงานในอ่าวไทยต้องเสี่ยงอันตรายแก่ชีวิตผู้คัดค้านทั้งสองทำงานในอ่าวไทยให้ผู้ร้องมาโดยตลอด จากเงินเดือนครั้งแรก ๖,๐๐๐บาทเศษ มามีเงินเดือนสูงมีเวลาทำงานจนเกษียณอีก ๑๓ ปี และ ๑๕ ปี ตามลำดับถ้าถูกเลิกจ้างเมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไปหางานใหม่ต้องรับอัตราค่าจ้างตามวุฒการศึกษาซึ่งจะได้ค่าจ้างเพียงเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท และไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับผู้คัดค้านทั้งสองต้องขาดรายได้จำนวนมาก ไม่สามารถหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ผู้ร้องประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพื่อจำหน่าย ผู้คัดค้านทั้งสองเป็ลูกจ้างผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างผู้ร้องมีความจำเป็นต้องปรับลดโครงสร้างบุคลากรโดยเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก และประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน ที่ผ่านมาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการของผู้ร้องกำหนดขึ้นผลการประเมินของคณะกรรมการจัดสรรบุคลากรปรากฎว่า ผู้คัดค้านทั้งสองได้คะแนนต่ำสุดของหน่วยงานและไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องกลั่นแกล้งหรือมีพฤติการณ์ส่อว่า ผู้ร้องมีเจตนาขัดขวางการดำเนินงานของผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะกรรมการลูกจ้าง แต่กลับจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่น้อยกว่าสิทธิและประโยชน์ตอบแทนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่จะจ่ายให้แก่พนักงานที่สมัครใจลาออกตามโครงการดังกล่าว ถือว่ามีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างได้อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง

ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา: ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ ผู้คัดค้านทั้งสองว่าสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองหรือไม่เห็นว่าผู้ร้องประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่มีแหล่งผลิตถึง ๑๔ แห่ง ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก แม้ในปี๒๕๔๑ ปริมาณการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะลดลงบ้างอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจก็ตามแต่การดำเนินกิจการของผู้ร้องยังมีกำไรตลอดมาทั้งปริมาณงานและผลผลิตก็ไม่ได้ลดลง ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นเกิดขึ้นและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้ผู้ร้องต้องผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงนั้นเป็นเพียงการคาดคะเนต่อเหตุการณ์ข้างหน้าเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เกิดผลดังเช่นที่ผู้ร้องคาดคะเนก็ได้และแม้การคาดคะเนดังกล่าวเป็นมูลเหตุให้ผู้ร้องต้องปรับโครงสร้างบุคลากรแต่การปรับโครงสร้างดังกล่าวก็ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องต้องยุบหน่วยงานที่ผู้คัดค้านทั้งสองทำอยู่หรือหน่วยงานอื่นของผู้ร้องผู้ร้องกลับจ้างผู้รับเหมาให้ทำงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องได้จ้างลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกหลายคน แม้การจ้างดังกล่าวมิได้ให้ทำงานในแผนกที่ผู้คัดค้านทั้งสองทำงานอยู่แต่ย่อมจะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ร้องเพิ่มขึ้น ส่วนการปรับโครงสร้างบุคลากรโดยการลดจำนวนบุคลากรลงให้เหมาะสมกับงานแม้เป็นอำนาจบริหารของนายจ้าง จนเป็นผลให้เลิกจ้างลูกจ้างได้แต่ต้องเป็นการกระทำที่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างและต้องเป็นธรรมต่อลูกจ้างด้วยการลดจำนวนลูกจ้างแม้ผู้ร้องได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นพิจารณาแก่ลูกจ้างทุกคนก็ตามแต่ผลการประเมินได้ระบุเพียงว่า ผลปฏิบัติงานของผู้คัดค้านทั้งสองได้คะแนนต่ำสุดของหน่วยงานเท่านั้น โดยไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถทำงานได้ดีหรือทำงานให้ผู้ร้องเสียหายอย่างไรหรือผู้คัดค้านทั้งสองได้กระทำผิดประการใดหรือมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องเลิกจ้างลูกจ้างในแผนกไฟฟ้าระดับ ๕และแผนกอุปกรณ์ของแหล่งผลิตเอราวัณเฉพาะผู้คัดค้านเพียงสองคนเท่านั้นจึงไม่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอถึงขนาดที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองคน ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ผู้คัดค้านทั้งสองฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองสำนวน

(มงคล คุปต์กาญนากุล วีรพจน์ เพียงพิทักษ์ พูนศักดิ์ จงกลนี)

หมายเหตุ:คดีนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดจำนวนลูกจ้างลง (lay off)โดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาตามผลการปฏิบัติงาน (performance appraisal) ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างที่จะขออนุญาตเลิกจ้างระบุเพียงว่า “ได้คะแนนต่ำสุดของหน่วยงาน” เท่านั้นมิได้มีข้อเท็จจริงอื่นประกอบให้เห็นว่านายจ้างมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอถึงขนาดที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้โ ดยเฉพาะการประเมินผลการปฏิบัติงานกระโดยผู้บังคับบัญชาซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะมีอคติอยู่แล้วการประเมินผลปฏิบัติงานจึงไม่สู้ได้รับความเชื่อถือมากนักและไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกคนเพื่อเลิกจ้างได้อย่างเป็นธรรมในสหรัฐอเมริกาได้นำระบบประเมินระบบ ๓๖๐ องศา (๓๖๐ DEGREE SYSTEM) ไปใช้เพื่อให้ได้แหล่งประเมินจากบุคคลรอบทิศทางโดยผู้ประเมินเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับงานของลูกจ้างนั้นอย่างไรก็ตามผลประเมินการปฎิบัติงานก็มิใช่เกณฑ์เดียวที่จะใช้เป็นเหตุที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้อย่างเป็นธรรมแต่อย่างใดนายจ้างต้องมีเหตุอันสมควรและเพียงอื่นที่จะเลิกจ้างลูกจ้างด้วย